๔. ทางแห่งความดับทุกข์

๔. ทางแห่งความดับทุกข์

.๑ เมื่อทราบแล้วว่าความทุกข์เกิดจากอะไร ย่อมไม่เป็นการยากที่จะทำความเข้าใจว่า ความดับทุกข์เกิดจากอะไร ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการดับความอยาก (ตัณหา) โดยแก้ที่ความหลงผิดหรือความไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงนั่นเอง สมดังพระพุทธวัจนะที่ว่เมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด (โลภะ/ตัณหา) เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นย่อมรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติ (ความเกิด) สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ (การศึกษาปฏิบัติธรรม) อยู่จบแล้ว

.๒ การจะให้จิตรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ การมีสติ (ในบทความนี้ สติหมายถึงสติและสัมปชัญญะ แต่ที่ไม่ได้แยกแยะรายละเอียดของสติกับสัมปชัญญะในชั้นนี้ ก็เพราะต้องการให้ผู้แรกสนใจพระพุทธศาสนา ศึกษาได้โดยไม่ซับซ้อนนัก) เฝ้าระลึกรู้ สภาวธรรม ที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง นี่เป็นเหตุผลที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว ทำนองเดียวกับเมื่อเราอยากเห็นรูปภาพตรงหน้า เราก็ลืมตาขึ้นดูตรงๆ เลยทีเดียว ทั้งนี้ พระศาสดาทรงยืนยันว่า การเจริญสตินี้แหละคือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์ เพราะการถอดถอนตัณหาและทิฏฐิ (ความเห็นผิดจากความจริง) ในโลกคือรูปนามเสียได้

.๓ พวกเราบางคนได้ยินคำสอนที่ว่า ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้แก่การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ รวบย่อลงมาก็คือการศึกษาปฏิบัติในเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา สิ่งที่ได้ยินมานี้ถูกต้องเช่นกัน แต่ควรทำความเข้าใจให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า การเจริญอริยมรรคหรือการรักษาศีล การทำสมาธิ และการเจริญปัญญา ชนิดไหนที่เกื้อกูลต่อความรู้แจ้ง และชนิดไหนไม่เกื้อกูลต่อความรู้แจ้ง

.๔ แท้จริงการบำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลาย เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง พระองค์เองก็ทรงบำเพ็ญบารมีมามากมายก่อนที่จะตรัสรู้(เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงด้วยพระองค์เอง) เช่นทรงบำเพ็ญทานอย่างยิ่งยวดเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร บางชาติทรงถือศีลแบบยอมสละชีวิต บางชาติทรงทำสมาธิจนได้อภิญญา ๕ เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก บางชาติเช่นพระชาติที่เป็นมโหสถบัณฑิตก็ทรงสะสมปัญญาบารมีอย่างยิ่งยวด แต่เหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในพระชาติเหล่านั้น กลับมาทรงตรัสรู้เอาในพระชาติสุดท้าย และทรงตรัสรู้ด้วยการเจริญอานาปานสติ จริงอยู่ถ้าพระองค์ไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีให้เต็มเปี่ยม พระองค์ย่อมไม่สามารถตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง แต่ถ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีโดยไม่ทรงเจริญสติ พระองค์ก็ทรงตรัสรู้ไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะการบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย เป็นการปรับพื้นฐานทางจิตใจของพระองค์ให้พร้อมสำหรับการแสวงหาหนทางเจริญสตินั่นเอง ตัวอย่างเช่น เพราะพระองค์เคยฝึกสละพระโอรสธิดาและพระชายาเพื่อพระโพธิญาณในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรมาแล้ว จึงทรงเข้มแข็งพอที่จะสละพระนางพิมพาและพระราหุลซึ่งเป็นที่รักยิ่ง เพื่อไปแสวงหาพระโพธิญาณ เป็นต้น

.๕ การทำความดีทั้งหลาย ทั้งทาน ศีล สมาธิ และการเจริญปัญญาบางระดับ ไม่ได้เกื้อกูลต่อการรู้ธรรม เพียงแต่นำความสุขมาให้ด้วยกุศลวิบากหรือผลแห่งความดีเท่านั้น และบางกรณีเมื่อทำความดีอยู่ จิตกลับพลิกไปเป็นอกุศลก็ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น

..การทำทาน หากทำโดยไม่ประกอบด้วยสติปัญญาก็อาจเป็นการพอกพูนกิเลสให้หนาหนักยิ่งขึ้น เช่นทำไปด้วยมิจฉาทิฏฐิว่า เราทำทานแล้ว เมื่อ เราเกิดในชาติต่อไป เราจะได้เสวยผลทานนี้ หรือเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเพราะการทำทานนี้ หรือทำไปด้วยความโลภว่า เราทำทานนี้ ขอให้ได้รับดอกผลมากมายอย่างนี้ๆ เป็นต้น

..การถือศีล หากไม่มีสติปัญญากำกับย่อมเป็นการง่ายที่ผู้ถือศีลจะกลายเป็นการถือศีลในลักษณะสีลัพพตปรามาส(ถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงาย) เช่นหลงผิดว่า การบำเพ็ญข้อวัตรที่กดข่มจิตใจมากๆ จะทำให้กิเลสเบาบางลง หรือยิ่งถือศีลก็ยิ่งพอกพูนกิเลส เช่นเกิดมานะมากขึ้น คือเกิดความสำคัญมั่นหมายว่า เราดีกว่าคนอื่นเพราะเราถือศีล ส่วนคนอื่นเลวกว่าเราเพราะไม่มีศีล เป็นต้น

.. การทำสมาธิ หากไม่ประกอบด้วยสติปัญญา ยิ่งทำสมาธิจิตยิ่งน้อมเข้าหาความสงบหรือความสุขสบายหรือเกิดมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดมากขึ้นๆ ด้วยอำนาจของโมหะและราคะ เช่นทำสมาธิแล้วเกิดความเคลิบเคลิ้มขาดสติ หรือเกิดนิมิตต่างๆ มากมาย บางคนถึงขนาดเห็นนิพพานเป็นบ้านเมืองหรือเป็นดวงแก้ว บางคนเกิดความรู้ความเห็นต่างๆ แล้วหลงภูมิใจอยู่กับความรู้เหล่านั้น เป็นต้น

..การเจริญปัญญา หากไม่ประกอบด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ จำแนกไม่ออกระหว่างสมถะกับวิปัสสนา ก็เป็นการง่ายที่จะหลงทำสมาธิแล้วคิดว่ากำลังเจริญปัญญาอยู่ เช่น บางท่านมุ่งใช้ความคิดพิจารณาสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา วัตถุสิ่งของ ผู้คน ฯลฯ ให้เป็นไตรลักษณ์ การกระทำเหล่านั้นเป็นเพียงการทำสมถกรรมฐาน เป็นไปเพื่อความสงบของจิต บางครั้งแทนที่จะเกิดความสงบ อาจเกิดความฟุ้งซ่านแทนก็ได้ บางคนยิ่งคิดพิจารณาไตรลักษณ์ มานะอัตตากลับยิ่งพอกพูนขึ้นก็มี ทั้งนี้เพราะไตรลักษณ์นั้น คิดเอาไม่ได้ แต่ต้องประจักษ์ชัดถึงสภาวะที่แท้ของรูปธรรมและนามธรรม ด้วยความมีสติ และด้วยจิตที่มีความตั้งมั่น (สัมมาสมาธิ) จึงจะเห็นไตรลักษณ์ด้วยปัญญาได้จริง

.๖ การทำความดีที่เกื้อกูลต่อการรู้ธรรม ต้องเป็นการทำดีที่เกื้อกูลต่อการเจริญสติที่ถูกต้อง หรือเจืออยู่ด้วยสติปัญญาในขณะที่ทำความดีนั้น เช่น

..การทำทาน ควรมีสติปัญญากำกับจิตใจของตนไว้ ทั้งก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ หากเป็นการกระทำด้วยศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ทำแล้วตนเองหรือผู้อื่นไม่เดือดร้อนก็ควรทำตามความเหมาะสม หรือทำแล้วจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน ก็มีสติระลึกรู้ความสุขความเบิกบานนั้นไป การทำทานจึงเป็นเครื่องมือฝึกการเจริญสติได้เหมือนกัน แต่ถ้าทำด้วยความเมาบุญด้วยอำนาจโลภะและโมหะ ทานนั้นก็ไม่เกื้อกูลใดๆ ต่อการเจริญสติ

..การรักษาศีล ศีลบริสุทธิ์ได้ยาก หากไม่มีสติกำกับอยู่ที่จิต แต่หากมีสติกำกับรู้อยู่ที่จิตใจตนเอง ศีลชนิดที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล ย่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ กล่าวคือเมื่อโทสะเกิดขึ้นก็มีสติรู้ว่าโทสะเกิดขึ้น โทสะย่อมครอบงำจิตไม่ได้ ศีลข้อ ๑ ก็เกิดขึ้นเต็มบริบูรณ์เพราะจิตไม่คิดฆ่าหรือทำร้ายใคร ถ้าโลภะเกิดขึ้นแล้วมีสติรู้ทัน ย่อมไม่ทำผิดศีลข้อ ๒ และข้อ ๓ โดยอัตโนมัติ เป็นต้น

..การทำสมาธิ สัมมาสมาธิหรือความตั้งมั่นของจิตเป็นองค์ประกอบหนึ่งของอริยมรรคมีองค์ ๘ ดังนั้นสมาธิในพระพุทธศาสนาจึงต้องประกอบด้วยองค์มรรคอื่นๆ ด้วย เช่นต้องมีสติและปัญญากำกับอยู่เสมอ สมาธิที่ขาดสติปัญญา เป็นสมาธิที่ให้ความสุขหรือของเล่นอื่นๆ ได้ก็จริง แต่ไม่มีประโยชน์ต่อการเจริญสติ เพราะจิตไม่ตั้งมั่นจริง และเมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ศีลและปัญญาก็ไม่อาจเกิดให้บริบูรณ์ได้

..การเจริญปัญญา การเจริญปัญญาที่ถูกถ้วนสมบูรณ์ที่สุดจะกล่าวในหัวข้อเกี่ยวกับการเจริญสติต่อไป ส่วนในหัวข้อนี้จะกล่าวเฉพาะการเจริญปัญญาในขั้นต้น ได้แก่การศึกษาปริยัติสัทธรรม ซึ่งชาวพุทธแม้จะเป็นนักปฏิบัติก็ไม่ควรทอดทิ้ง อย่างน้อยควรเรียนให้รู้หลักการขั้นพื้นฐานของพระพุทธศาสนาไว้บ้าง มิฉะนั้นอาจกลายเป็นผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่นๆ ทั้งที่คิดว่าตนเป็นชาวพุทธก็ได้

.การเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งดูว่ามีหลายอย่างนั้น ถ้าเจริญสติได้ถูกต้อง ศีล สมาธิและปัญญาจะเกิดขึ้นเอง เช่นในหนังสืออรรถกถาธรรมบท กล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งไปทูลลาสิกขาจากพระพุทธเจ้าเพราะรักษาศีลจำนวนมากไม่ไหว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ท่านเจริญสติแทนการตามรักษาศีลจำนวนมาก ท่านทำแล้วสามารถทำศีลของท่านให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ทั้งยังบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วย หรือหากเรามีสติจนสามารถระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏได้จริงๆ ในขณะนั้นเราจะเกิดสัมมาสมาธิโดยอัตโนมัติ คือจิตจะเกิดความตั้งมั่นแล้วมีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่เข้าไปหลงแทรกแซง สิ่งที่ตามมาก็คือปัญญาที่รู้จักสภาวะของรูปและนาม รู้ถึงความเป็นไตรลักษณ์ของรูปและนาม และรู้ได้แม้กระทั่งอริยสัจจ์ ๔ ปัญญาเหล่านี้เกิดจากการเจริญสติด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธิทั้งสิ้น ดังนั้นจะกล่าวว่า การปฏิบัติตามทางแห่งความพ้นทุกข์ จะต้องเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ ย่อลงมาเป็นการเจริญไตรสิกขาคือศีล สมาธิและปัญญาก็ได้ หรือถ้าย่อลงให้ถึงที่สุด การเจริญสตินั้นแหละคือการเจริญไตรสิกขาและมรรคมีองค์ ๘

Leave a comment